พันธุ์สุกร ศูนย์วิจัยและพัฒนาสุกร สำนักพัฒนาพันธุ์สัตว์ กรมปศุสัตว์
พันธุ์สุกร ศูนย์วิจัยและพัฒนาสุกร สำนักพัฒนาพันธุ์สัตว์ กรมปศุสัตว์
พันธุ์สุกร แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ตามการใช้ประโยชน์ คือ
- ประเภทมัน เป็นสุกรรูปร่างตัวสั้น อ้วนกลม มีมันมาก สะโพกเล็ก โตช้า เช่น สุกรพันธุ์พื้นเมืองของประเทศไทย
- ประเภทเนื้อ รูปร่างจะสั้นกว่าพันธุ์เบคอน ไหล่และสะโพกใหญ่เด่นชัด ลำตัวหนาและทึก ได้แก่ พันธุ์ดูร็อกเจอร์ซี่ เบอร์กเชียร์ แฮมเชียร์ เป็นต้น
- ประเภทเบคอน รูปร่างใหญ่ ลำตัวยาว มีเนื้อมาก ไขมันน้อย ความหนาและความลึกของลำตัวน้อยกว่าประเภทเนื้อ ได้แก่ พันธุ์แลนด์เรซ ลาร์จไวท์ เป็นต้น
พันธุ์สุกรจากต่างประเทศ และพันธุ์สุกรพื้นเมืองที่นิยมเลี้ยงในประเทศไทย
- พันธุ์ลาร์จไวท์ มีถิ่นกำเนิดในประเทศอังกฤษ นำเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2482 มีสีขาว หูลำตัวยาว กระดูกใหญ่ โครงใหญ่ หน้าสั้น หัวใหญ่ โตเต็มที่น้ำหนัก 200-250 กิโลกรัม ให้ลูกดกเฉลี่ย 9-10 ตัว เลี้ยงลูกเก่ง หย่านมเฉลี่ย 8-9 ตัว มีความแข็งแรง เจริญเติบโตเร็ว คุณภาพซากดี พันธุ์ลาร์จไวท์ เหมาะที่จะใช้เป็นทั้งสายพ่อพันธุ์ละแม่พันธุ์
- พันธุ์แลนด์เรซ มีถิ่นกำเนิดจากประเทศเดนมาร์ค นำเข้ามาในประเทศไทยปี พ.ศ. 2506 มีสีขาว หูปรก หน้ายาว ลำตัวยาว มีซี่โครงมากถึง 16-17 คู่ (สุกรปกติมีกระดูกซี่โครง 15-16 คู่) โตเต็มที่ 200-250 กิโลกรัม ให้ลูกดกเฉลี่ย 9-10 ตัว เลี้ยงลูกเก่ง หย่านมเฉลี่ย 8-9 ตัว มีข้อเสียคืออ่อนแอ มักมีปัญหาเรื่องขาอ่อน ขาไม่ค่อยแข็งแรง แก้ไขโดยต้องเลี้ยงด้วยอาหารที่มีคุณภาพดี พันธุ์แลนด์เรซเหมาะที่จะใช้เป็นสายแม่พันธุ์
- พันธุ์ดูร็อคเจอร์ซี่ มีถิ่นกำเนิดจากประเทศอเมริกา มีสีแดง หูปรกเป็นส่วนใหญ่ ลำตัวสั้นกว่าลาร์จไวท์ และแลนด์เรซ ลำตัวหนา หลังโค้ง โตเต็มที่ 200-250 กิโลกรัม เป็นสุกรที่ให้ลูกมาดกเฉลี่ย 8-9 ตัว เลี้ยงลูกไม่เก่ง หย่านมเฉลี่ย 6-7 ตัว ลูกสุกรหลังจากอายุ 2 เดือนไปแล้ว เจริญเติบโตเร็วมีความแข็งแรงทนทานต่อสภาพดินฟ้าอากาศทุกชนิด นิยมใช้เป็นสายพ่อพันธุ์เพื่อผลิตลูกผสมจะได้ลูกผสมที่สวยงาม แผ่นหลังกว้าง เจริญเติบโตเร็ว
- พันธุ์เปียแตรง มีถิ่นกำเนิดจากประเทศเบลเยี่ยม มีสีขาวเหลือง ลายสลับ เป็นสุกรที่มีรูปร่างสวยงาม กล้ามเนื้อเป็นมัดๆ แผ่นหลังกว้างเป็นปีก สะโพกเห็นเด่นชัด โตเต็มที่ 150-200 กิโลกรัม มีเปอร์เซนต์เนื้อแดงสูงมาก มีข้อเสียคือ ตื่นตกใจซ็อคตายง่าย และโตช้า ปัจจุบันนิยมใช้ผสมข้ามพันธุ์เป็นพ่อพันธุ์ในการผลิตสุกรขุน
- สุกรพื้นเมือง เป็นสุกรที่เลี้ยงอยู่ตามหมู่บ้านชนบทพวกชาวนา ลักษณะโดยทั่วไป จะมีขนสีดำ ท้องยาน หลังแอ่น การเจริญเติบโตช้า ให้ลูกดก และเลี้ยงลูกเก่ง จะมีชื่อเรียกต่างกันไปตามท้องถิ่น เช่น สุกรพันธุ์ไหหลำ พันธุ์ควาย พันธุ์ราด พันธุ์พวง สุกรป่า เป็นต้น
- สุกรพันธุ์ไหหลำ เลี้ยงตามภาคกลางและภาคใต้ของประเทศไทย มีสีดำปนขาว ตามลำตัวจะมีสีดำ ท้องมักมีสีชาว จมูกยาวและแอ่นเล็กน้อย คางย้อย ไหล่กว้าง หลังแอ่น สะโพกเล็ก มีอัตราการเจริญเติบโตและการสืบพันธุ์ได้ดีกว่าสุกรพื้นเมืองอื่นๆ แม่สุกรโตเต็มที่ หนักประมาณ 100-120 กิโลกรัม
- สุกรพันธุ์ราดหรือพวง เลี้ยงตามภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคใต้ มีขนสีดำตลอดตัว มีสีขาวปนแซมบ้างเล็กน้อย จมูกยาว ลำตัวสั้นป้อม หลังแอ่น ใบหูตั้งเล็ก ผิวหนังหยาบ แม่สุกรโตเต็มที่หนักประมาณ 80-100 กิโลกรัม
- สุกรพันธุ์ควาย เลี้ยงตามภาคเหนือและภาคกลาง มีลักษณะคล้ายสุกรไหหลำ แตกต่างกันที่พันธุ์ควายจะมีสีดำ สุกรพันธุ์ควายมีหูใหญ่ปรกเล็กน้อย มีรอยย่นตามลำตัว เป็นสุกรที่มีขนาดใหญ่กว่าสุกรพื้นเมืองพันธุ์อื่น แม่สุกรโตเต็มที่หนักประมาณ 100-125 กิโลกรัม
- สุกรป่า เลี้ยงตามภาคต่างๆ ทั่วไป มีขนหยาบแข็ง สีนำตาลเข้มหรือสีดำเข้ม หรือสีดอกเลา หนังหนา หน้ายาว จมูกยาวและแหลมกว่าสุกรพื้นเมือง ขาเล็กและเรียว ดูปราดเปรียว ที่พบมีอยู่ 2 พันธุ์ คือพันธุ์หน้ายาว และพันธุ์หน้าสั้น แม่สุกรโตเต็มที่หนักประมาณ 80 กิโลกรัม
- นอกจากนี้ก็มีสุกรพันธุ์แฮมเชียร์ เบอร์เชียร์ และเหมยซาน ที่นำเข้ามาทดลองเลี้ยงดูในประเทศไทย แต่ไม่นิยมเลี้ยงแพร่หลาย ที่นิยมเลี้ยงกันมากก็มีเพียง 3 พันธุ์เท่านั้น คือ ลาร์จไวท์ แลนด์เรซ และดูร็อกเจอร์ซี่ ส่วนสุกรลูกผสมที่เป็นสุกรขุน นิยมใช้สุกรสามสายพันธุ์คือ ดูร็อกเจอร์ซี่ X แลนด์เรซ-ลาร์จไวท์ (โดยใช้พ่อพันธุ์แท้ดูร็อคเจอร์ซี่ และแม่ลูกผสมแลนด์เรซ-ลาร์จไวท์)